ความร่วมมือด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประชาคมอาเซียน
อาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC) ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community – ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC)
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นเป้าหมายหลักด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในการขับ เคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน มีองค์ประกอบสำคัญ คือ การเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตร่วมกัน
โดยมุ่งสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคคือความร่วมมือด้านพลังงาน
อย่างไรก็ตามการเข้าสู่ประชาอาเซียนไม่ใช่หนทางหรือโอกาสทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีความท้าทายอื่นโดยเฉพาะเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความสำคัญมาก ที่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมตั้งรับ เพราะ AEC คือตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวม 600 ล้านคน มีจำนวนแรงงานมากกว่า 300 ล้านคน มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 429 ล้านไร่ ดูจะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ แต่การเติบโตด้านการใช้พลังงานของประเทศในกลุ่ม AEC จะมีสถิติสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต่างจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิ่งแวดล้อม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นประเทศในกลุ่ม AEC จึงจำเป็นที่ต้องร่วมมือกันสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการดูแลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
1. ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียน
อาเซียนเริ่มมีความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งอาเซียนได้รับความร่วมมือโครงการส่งแวดล้อมของอนุภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Sub-regional Environment Programme – ASEP) ระยะที่ 1 จากสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) และเมื่อก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ประเด็นปัญหาเริ่มมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยกลุ่มประเทศสมาชิกได้เริ่มเจรจากันถึงข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม และมีการลงนามในความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (พ.ศ. 2545) ปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานเอเชียตะวันออก เครือข่ายกำกับดูแลสัตว์ป่าอาเซียน (พ.ศ. 2549) และหุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการพัฒนาความสะอาดและสภาพอากาศเพื่อตอบสนองต่อปรากฏการณ์โลกร้อนและผลกระทบทางด้านลบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (พ.ศ. 2550)
1.1 ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)
หนึ่งในสามของเสาหลักของประชาคมอาเซียน คือ การจัดตั้ง ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC) จะประกอบด้วยความร่วมมือในด้านต่างๆ 6 ด้าน ซึ่งความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) คือหนึ่งในหกของความร่วมมือ โดยมีสาระสำคัญ คือ การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก การจัดการและการป้องกันปัญหามลพิษ ทางสิ่งแวดล้อมข้ามแดน ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วม ของประชาชน ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานการดำรงชีวิตในเขตเมือง การประสานนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและฐานข้อมูล ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรชายฝั่ง และทรัพยากร ทางทะเลอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจัดการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำจืด การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศและการจัดการต่อผลกระทบ ส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน
1.2 ร่างข้อมติกรุงเทพฯ ว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน
สาระสำคัญของร่างข้อมติกรุงเทพฯ ว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทายจากปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะร่วมกันดำเนินการตามพันธสัญญาอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ตลอดจนผลจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Rio+20) รวมถึงกระตุ้นให้มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะปกป้อง อนุรักษ์และใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียนอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการตามแผนกลยุทธ์เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับปี 2554-2563 และเป้าหมายไอจิ ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้นเพื่อป้องกันไฟป่าและลดมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยการเฝ้าระวังและการดำเนินกิจกรรมป้องกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการเสริมสร้างความร่วมมือในการฟื้นฟูสภาพป่าและลดการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อป้องกันความสูญเสียทางความหลากหลายทางชีวภาพและเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนในภูมิภาค
2. ความร่วมมือด้านพลังงานในอาเซียน
พลังงานนับเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การใช้พลังงานจึงถือเป็นเป็นตัวชี้วัดทางอ้อมด้านเศรษฐกิจ ยิ่งตัวเลขประชากรมากขึ้น ก็ยิ่งมีการใช้พลังงานมากขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy infrastructure investments) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาและการใช้พลังงานในภูมิภาค การมีพลังงานที่เพียงพอและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้มีส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาความยากจน พัฒนาสวัสดิการทางสังคมให้แก่ประชาชน และช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพ
2.1 ศักยภาพของแหล่งพลังงานของอาเซียน
จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในการสัมมนา เรื่อง“ประชาคมอาเซียนกับการเชื่อมโยงระบบพลังงาน” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 แสดงให้เห็นว่าในภูมิภาคอาเซียนอุดมไปด้วยแหล่งพลังงานอยู่มากมายและมีหลายชนิด
ภาพที่ 1 ศักยภาพแหล่งพลังงานในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้้าโขง (GMS)
ที่มา : ดร.สุเทพ ฉิมคล้าย, กฟฝ. ประชาคมอาเซียนกับการเชื่อมโยงพลังงานคณะกรรมาธิการพลังงาน, วุฒิสภา, 25 มกราคม 2555
ประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้้าโขง (GMS) มีแหล่งพลังงานที่เหมือนกันและแตกต่างชนิดกันไป เช่น ทางตอนเหนือของอาเซียน ได้แก่ ประเทศเมียนมาร์ ลาว และเวียดนามตอนเหนือมีแหล่งน้้ามากจึงมีศักยภาพในการนำน้้ามาผลิตไฟฟ้า ส่วนทางตอนกลางและตอนใต้ของอาเซียนมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในไทย (ในอ่าวไทย) กัมพูชา มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และมีแหล่งถ่านหินในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ในด้านความร่วมมือด้านพลังงานนี้ประเทศไทยและประเทศสมาชิกในอาเซียนได้มีความร่วมมือกันในพลังงานที่สำคัญๆ 2 ชนิด คือ ด้านไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ
จากการที่ชาติอาเซียนเติบโตเร็วมากขึ้น ทำให้อัตราการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีแต่อินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซจำนวนมาก ขณะที่เวียดนามมีแหล่งสำรองของน้ำมัน (Proved Reserves) มากเช่นเดียวกันและมากกว่าอินโดนีเซียอีกด้วย ปัญหามีแต่เพียงประเทศไทยที่มีการบริโภคพลังงานจำนวนมากและเป็นประเทศน้ำ เข้าพลังงานสุทธิทั้งก๊าซ น้ำมันและไฟฟ้า การนำเข้าน้ำมันดิบของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 80 ของการนำเข้าพลังงานทั้งหมด และการนำเข้าพลังงาน มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 20 ของการนำเข้าสินค้า หากพิจารณาอีกด้านคือรายจ่ายการบริโภคพลังงานมีสัดส่วนร้อยละ 16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ รวมกันแล้วจึงเป็นข้อมูลทางสถิติที่น่าตระหนกว่า หากมีวิกฤติทางด้านพลังงานแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ความร่วมมือในกรอบอาเซียนจะช่วยอย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะหากการใช้พลังงานยิ่งเพิ่มสูงขึ้นหลังปี 2558 เพราะจะมีการเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น ธุรกิจและการลงทุนก็น่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน
2.2 Plan of Action on Energy Cooperation (PAEC)
อาเซียนมีความร่วมมือทางด้านพลังงานมาตั้งแต่ปี 2519 มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลด้านการพัฒนาปิโตรเลียมและการใช้อย่างมี ประสิทธิภาพ และยังมีหน่วยงานที่จะพัฒนาเครือข่ายการส่งกระแสไฟฟ้า ความร่วมมือของอาเซียนที่สำคัญมาเริ่มจริงจังในปี 2538 ที่เรียกว่า Plan of Action on Energy Cooperation (PAEC) ซึ่งมีการวางแผนที่ละ 5 ปี โดยปัจจุบันเป็น PAEC ของปี 2553-2558 แนวทางของความร่วมมือมีโครงการหลักที่สำคัญถึง 7 สาขา ได้แก่ (1) การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าของอาเซียน (ASEAN Power Grid : APG) (2) การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline : TAGP) (3) การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำถ่านหินมาใช้เป็นพลังงานอย่างไม่มีมลพิษ (4) การพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานที่กลับมาใช้ใหม่ได้ที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(Renewable Energy : RE) (5) การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน(Energy Efficiency and Conservation : EE&C) (6) นโยบายและการวางแผนพลังงานภูมิภาค และ (7) พลังงานนิวเคลียร์
- ความเชื่อมโยงของระบบพลังงานไฟฟ้าอาเซียน
ประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้มีการทำโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียนมานาน โดยประเทศไทยได้มีการเชื่อมโยงด้านไฟฟ้ากับประเทศลาว มาเลเซีย กัมพูชา เป็นต้น การมีความเชื่อมโยงด้านไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านได้ช่วยลดปัญหาไฟดับเป็นวง กว้าง ทำให้เกิดความมั่นคงแก่ประเทศด้านพลังงานไฟฟ้าที่จะนำมาใช้มากขึ้น เนื่องจากในปี 2573 ตามแผน PDP 2010 ได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึงประมาณ 53,000 เมกกะวัตต์ ในการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้ากับอาเซียน (ASEAN Power Grid) ของไทยจะมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เป็นหน่วยงานที่ดูแลในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงกันในอาเซียนให้มากกว่าใน ปัจจุบันซึ่งพบว่ามีรวมทั้งหมด 16 โครงการ ตามรายละเอียดในภาพที่ 2 ซึ่งคาดว่าการเชื่อมโยงจะแล้วเสร็จในปี 2020
ภาพที่ 2 โครงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียนในอนาคต
ที่มา : นายไกรสีห์ กรรณสูตร, ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา,. ประชาคม อาเซียนกับการเชื่อมโยงพลังงาน คณะกรรมธิการพลังงาน, วุฒิสภา, 25 มกราคม 2555
แผนการเชื่อมโยงพลังงานทั้งหมด 16 โครงการ มีรายละเอียดดังนี้คือ
1) โครงการมาเลเซีย-สิงคโปร์ เนื่องจากสายเดิมเล็กเกินไป จึงจะดำเนินการเพิ่มขนาดสายในปี 2018
2) โครงการไทย-มาเลเซีย ปัจจุบันเชื่อมโยงกันด้วยสายไฟ DC 300 MW จะดำเนินการเพิ่มระดับในเฟสที่สองในปี 2016
3) โครงการมาเลเซียบนคาบสมุทรจะเชื่อมโยงกับซาราวัก ถือเป็นการเชื่อมภายในประเทศ
4) โครงการมาเลเซีย-อินโดนีเซีย เนื่องจากสุมาตรามีแหล่งพลังงานมาก ขนาดประมาณ 600 MW ในปี 2017
5) โครงการอินโดนีเซีย เนื่องจากจะมีเกาะเล็กๆ ที่เรียกเกาะบาทัม (Batam Island) อยู่ใกล้กับสิงคโปร์ จะดำเนินการเชื่อมกันประมาณปี 2015-2017
6) โครงการมาเลเซีย-อินโดนีเซีย ระหว่างซาราวักกับเวสต์กลิมันตัน (West Kalimantan)
7) โครงการฟิลิปปินส์-มาเลเซีย เชื่อมกันที่ซาบาห์ โดยฟิลิปปินส์จะใช้พลังงานจากซาบาห์เนื่องจากมีแหล่งพลังงานไม่มาก
8) โครงการซาราวัก-บรูไน ซึ่งไม่เคยการเชื่อมกับประเทศใดมาก่อน จะดำเนินการปี 2016
9) โครงการไทย-ลาว จะดำเนินการเชื่อมกันในอีกหลายจุด ที่ใหญ่ๆ คือ ลิกไนต์ที่หงสา (Hongsa) ในปี 2015 โดยจะดำเนินตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าลิกไนต์ที่ลาวแล้วส่งมาไทย ส่วนไชยบุรีจะโอนไฟมามากขึ้นปี 2019
10) โครงการลาว-เวียดนาม
11) โครงการไทย-พม่า จะเริ่มดำเนินการในปี 2016 เป็นต้นไป โดยพัฒนาเขื่อนที่พม่า (แม่สอด) แล้วขายไฟกลับเข้ามาในไทย และมีลิกไนต์ขนาดไม่ใหญ่ที่พม่า และเชื่อมกลับมา
12) โครงการเวียดนามกับเขมร มากกว่า 200 MW จะดำเนินการในปี 2017
13) โครงการลาว-เขมร
14) โครงการไทย-เขมร ปราจีนไปพระตะบอง (Battambang)
15) โครงการ ซาบาห์กับอีสต์กลิมันตัน
16) โครงการสิงคโปร์-สุมาตรา
- ความเชื่อมโยงของท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียน
อนาคตการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียนถูกกำหนดไว้ในกลยุทธ์ที่ 7 ของแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน โดยมีแผนการดำเนินโครงการตามรายละเอียดภาพที่ 3 แสดงโครงการเชื่อมโยงท่อก๊าซธรรมชาติในอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline) โดยในส่วนของโครงการของไทยจะมี ปตท. เป็นหน่วยงานที่ดูแล
ภาพที่ 3 การเชื่อมโยงของท่อส่งก๊าซธรรมชาติของอาเซียนในอนาคต
ที่มา : นายวิชัย พรกีรติวัฒน์, ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ, บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน),. ประชาคมอาเซียนกับการเชื่อมโยงพลังงาน คณะกรรมธิมาการพลังงาน, วุฒิสภา, 25 มกราคม 2555
ในปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการบริโภคก๊าซธรรมชาติสูงเนื่องจากมีความต้องการมากกว่าที่ผลิตได้และนับวันจะบริโภคมากขึ้นๆ คาดว่าในปี 2573 ความต้องการบริโภคก๊าซธรรมชาติประมาณ 35,000 คิวบิคฟุตต่อวัน จากภาพที่ 4 ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยบริโภคก๊าซธรรมชาติมากกว่าที่ผลิตได้ในประเทศทำ ให้ไทยมีสถานะเป็นประเทศผู้นำเข้า (Net Import) ดังนั้น การเสาะหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ มาเพื่อใช้ในรองรับการบริโภคในประเทศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับประเทศ ไทยทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
ภาพที่ 4 ปริมาณการผลิตและความต้องการก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคอาเซียน
ที่มา : นายวิชัย พรกีรติวัฒน์, ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ, บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน),. ประชาคมอาเซียนกับการเชื่อมโยงพลังงาน คณะกรรมธิมาการพลังงาน, วุฒิสภา, 25 มกราคม 2555
- การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำถ่านหินมาใช้เป็นพลังงานอย่างไม่มีมลพิษ
ส่งเสริมการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระดับภูมิภาค
- การพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานที่กลับมาใช้ใหม่ได้ที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(Renewable Energy : RE)
ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มความหลากหลายของการจัดหาพลังงานและ ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน และสามารถกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม
- การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency and Conservation : EE&C)
เสริมสร้างความร่วมมือในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์ ผ่านการเสริมสร้างศักยภาพของสถาบันและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน รวมทั้งการเสริมสร้างความตระหนักของประชาชนและการขยายตลาดสำหรับสินค้าที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- นโยบายและการวางแผนพลังงานภูมิภาค
เสริมสร้างความร่วมมือในการวิเคราะห์นโยบายพลังงานในระดับภูมิภาคและการวางแผนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการดำเนินงาน
- พลังงานนิวเคลียร์
ให้ความร่วมมือร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคระบบเครือข่ายและการฝึกอบรมเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า
2.3 ความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียนสามบวก
เนื่องจากอาเซียนยังมีข้อจำกัดอยู่หลายด้าน อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปอย่างล่าช้า และโครงการด้านพลังงานทดแทนส่วนใหญ่ยังเป็นโครงการนำร่องอยู่ นอกจากนี้ระบบสาธารณูปโภครองรับการขนถ่ายพลังงานต้องลงทุนเป็นจำนวนเงิน มหาศาล ทำให้ความร่วมมือทางด้านพลังงานของอาเซียนจำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือที่กว้างกว่าเดิม เช่น อาเซียน-ญี่ปุ่น หรือ อาเซียน-จีน หรืออาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลี และญี่ปุ่น) เนื่องจากทั้งญี่ปุ่น เกาหลี และจีน มีเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าในด้านพลังงานทดแทน ทั้งนี้กลุ่มอาเซียนบวกสามมีข้อตกลงตั้งแต่ปี 2545 รวม 5 ด้าน คือ
(1) เครือข่ายความมั่นคงทางด้านพลังงานในกรณีฉุกเฉิน
(2) การพัฒนาระบบสำรองน้ำมัน (Oil Stockpiling) แต่ปัจจุบันยังเป็นกรณีการสำรองโดยความสมัครใจ
(3) การศึกษาร่วมกันในตลาดน้ำมันของทั้ง 13 ประเทศ
(4) การพัฒนาการขนส่งลำเลียงก๊าซธรรมชาติซึ่งมีจำนวนมากแต่ขาดระบบท่อ
(5) การพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีความสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2.4 ศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre of Energy)
อาเซียนได้จัดตั้งศูนย์พลังงานอาเซียนในปี 2539 โดยยกฐานะ “ศูนย์ฝึกอบรม เพื่อการจัดการและวิจัยพลังงานอาเซียน-ประชาคมยุโรป (ASEAN-EU Energy Management Training and Research Centre)” ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2531 เป็นศูนย์พลังงานอาเซียน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการศึกษาวิเคราะห์ รวบรวม ข้อมูล จัดฝึกอบรม ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานอาเซียนคนปัจจุบันคือ นาย Nguyen Manh Hung ชาวเวียดนาม
2.5 ความตกลงด้านพลังงานที่สำคัญ
ความตกลงว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียมของอาเซียน (ASEAN Petroleum Security Agreement: APSA) เป็นความตกลงฉบับปรับปรุงจากความตกลงฉบับเดิม ซึ่งได้ลงนามมาตั้งแต่ปี 2529 APSAเป็นกลไกในการแบ่งปันปิโตรเลียมในภาวะฉุกเฉินสำหรับน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในเวลาหรือสถานการณ์ทั้งที่มีการขาดแคลนและมีอุปาทานมากเกินไป
References
- ชโยดม สรรพศรี (2555) อนาคตพลังงานไทยกับการเข้าสู่ AEC.
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (2555) ผลกระทบการเชื่อมโยงระบบพลังงานในอาเซียนต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย
- พัชรี คงตระกูลเทียน (2556) การปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อก้าวสู่ AEC โอกาส ความท้าทายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- คณะกรรมาธิการพลังงาน (2555) ประชาคมอาเซียนกับการเชื่อมโยงพลังงาน
- สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (2555) โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม
- จุดพลิกโฉมพลังงานของไทย [Online], Available: http://www.energysavingmedia.com
- Asean Center for Energy. Asean Plan of Action for Energy Cooperation 2010-2015 (APAEC 2010-2015).
ที่มา: http://www.environnet.in.th/2014/?p=7701