บริษัทตรวจสิ่งแวดล้อม ภาคใต้ |เราคือบริษัท1เดียวในภาคใต้ที่ให้คำปรึกษาและตรวจสิ่งแวดล้อม ด้วยนักวิชาการสิ่งแวดล้อมโดยตรง

รายละเอียด

จากกองขยะเหม็นๆ กลายเป็นแผ่นดินสิงคโปร์

เขียนและเรียบเรียงโดย : นายนัท
nutpermpoon@gmail.com

 

สวัสดีครับ คุณสงสัยไหมว่าทำไมสิงคโปร์ถึงเป็นเมืองที่สะอาดติดอันดับโลก มาดูกันสิว่าเขามีระบบการบริหารจัดการอย่างไร….
จากจำนวนประชากรประเทศสิงคโปร์กำลังเติบโต และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีส่วนทำให้ขยะมูลฝอยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 3,338 ตัน ในปี 2014 จาก 1,260 ตันในปี 1970 การจัดการขยะมูลฝอยในประเทศสิงคโปร์ ให้ความสำคัญโดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ภายในครัวเรือนก่อน นั้นคือ  การรีไซเคิล โดยกระบวนการนี้ มีการแบ่งแยกประเภทขยะแต่ละชนิดก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ และยืดการใช้งานของวัสดุบางชนิดได้ ขยะชนิดใดที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้จะถูกเผาให้เป็นเถ้าถ่านที่โรงงาน WTE  และจะถูกขนส่งไปยัง Tuas Marine Transfer Station (TMTS) เพื่อ นำเศษเถ้าถ่านไปถมต่อเป็นเกาะที่ Semakau

IMG_4940

ภาพโรงงาน Waste to Energy แห่งล่าสุดของสิงคโปร์ ซึ่งโรงงานแห่งนี้ จะเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยสามารถรองรับขยะได้ 2,400 ตันต่อวัน และสามารถผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 56 MW ต่อวัน

โรงงาน Waste to Energy (WTE)
โดยทั่วไปในสิงคโปร์มีโรงงานกำจัดขยะจำนวน 4 โรงงาน คือ โรงงาน Tuas,โรงงาน Senoko, โรงงาน Tuas South และ โรงงาน Keppel Seghers Tuas (KSTP) ซึ่งโรงงาน KSTP ถูกสร้างขึ้นจากมติที่ประชุมของรํฐสภาในปี 2009 เพื่อทดแทนโรงงานแห่งแรกแห่งเดิมที่ Ulu Padan ซึ่งปิดตัวลงในเดือนสิงหาคม 2009 หลังจากใช้งานมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี ส่วนโรงงานกำจัดขยะ Seneko เป็นโรงงานเอกชนที่ปิดตัวลงในเดือนกันยายน ปี 2009 และถูกเปลี่ยนเป็นโรงงานที่ชื่อว่า Seneko Waste to Energy

IMG_4947 copy

ภาพกระบวนการ รับขยะมาเผา แล้วนำความร้อนมาต้มนำ้ เพื่อไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า

เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรงงาน Waste to energy กันดีกว่าครับ
          Waste to Energy Plants หรือโรงงานเผาขยะแบบเถ้าถ่าน มีกระบวนการโดยการนำขยะมาเผาให้มีลักษณะเป็นผง โดยผลพวงทีได้คือพลังงานความร้อนจากการเผา ซึ่งโรงงานจะนำความร้อนจากกระบวนการการสันดาปมาใช้ผลิตเป็นพลังงานความร้อนให้กับหม้อไอน้ำ ซึ่งตัวพลังไอน้ำจะถูกใช้เป็นตัวขับเคลื่อนกังหันไฟฟ้าเพื่อใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อไป
ซึ่งก่อนที่จะเผาขยะ จะมีการชั่งน้ำหนักก่อนหลังทุกครั้ง เพื่อให้ทราบน้ำหนักของขยะทั้งหมด และเพื่อการติดตามผลรวมของขยะมูลฝอยได้ด้วย ส่วนในเรื่องของกลิ่นขยะมูลฝอยนั้น โรงงานได้มีการปรับความดันห้องที่เก็บขยะให้มีความดันต่ำกว่าปกติ เพื่อไม่ให้กลิ่นไปรบกวนบรรยากาศรอบข้าง หลังจากนั้นจึงทำการบดขยะมูลฝอย และใช้เครนขนย้ายขยะส่วนนั้นเข้ามาในเตาเผา ซึ่งใช้อุณหภูมิในการเผาสูงถึง 850 – 1000 องศาเซลเซียส จึงต้องใช้วัสดุที่ทนความร้อนสูงในส่วนของผนังในบริเวณเตาเผาขยะ หลังจากการเผาเสร็จ ปริมาตรของขยะจะลดลงจนเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรเดิม ส่วนโลหะเหล็กต่างๆ ที่พบในขยะจะถูกนำไปขายเพื่อรีไซเคิลใหม่อีกครั้ง ส่วนเถ้าถ่านที่เหลือก็จะถูกขนส่งไปยังกระบวนการต่อไปที่สถานทีโอนถ่ายขยะ Tuas Marine (TMTS)การใช้พลังงานเชื้อเพลิงก๊าซในการเผาขยะในโรงงานที่สิงคโปร์ จะใช้พลังงานแบบสะอาดร่วมกับระบบการจับดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitators) คือการใช้เครื่องมือ และตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อกำจัดฝุ่นละออง และมลภาวะที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงก๊าซ ก่อนที่จะปล่อยออกจากปล่องไฟ

 

สถานีโอนถ่ายขยะ Tuas Marine (TMTS)
เถ้าขยะมูลฝอยต่างๆ จากโรงงานเผาขยะ และขยะมูลฝอยที่ไม่สามารถเผาได้ จะถูกขนถ่ายต่อมายังสถานีนี้ ซึ่งขยะจากพาหนะต่างๆ จะถ่ายเถ้าถ่าน และขยะลงบนโป๊ะขนาดใหญ่ที่ไว้ขนถ่ายขยะ ซึ่งจะใช้เรือลากจูงที่ออกแบบมาพิเศษลากจูงไปยังเกาะ Semakau โดยใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงในการขนถ่ายไปยังเกาะ Semakau
เกาะ Semakau
เกาะ Semakau ตั้งอยู่ห่างจากเกาะสิงคโปร์ตอนใต้ออกไป 8 กิโลเมตร โดยเกิดจากการเชื่อมเกาะเล็กๆ สองเกาะที่มีอยู่ตามธรรมชาติเข้าด้วยกัน ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะ Palau Semakau และ Palau Sakeng  กั้นด้วยเขื่อนหินมีเส้นรอบเกาะ 7 กิโลเมตรโดยรอบ ซึ่งเกาะนี้นอกจากจะเป็นเกาะถมขยะแล้ว ยังถือเป็นเกาะแห่งการเรียนรู้อีกด้วย

กระบวนการการถมที่ Semakau
–    เมื่อขี้เถ้าขยะจาก TMTS ส่งมาถึงบริเวณท่าเทียบเรือ ขี้เถ้าจะถูกขนถ่ายลงบนเกาะ เรือลากก็จะกลับไปยังสถานีเดิม
–    ภายในเกาะจะมีถนนกว้าง 10 เมตร รอบบริเวณเกาะ สร้างขึ้นเพื่อเป็นทางสำหรับบรรทุกขนถ่ายเถ้าขยะจากท่าเรือไปยังส่วนต่างภายในเกาะ และบริเวณที่ถม

–     หลังจากถมด้วยขี้เถ้าเสร็จ จะใช้ดินที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาถมซ้ำและปลูกต้นโกงกางไว้เพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวภายในเกาะ ส่วนช่องต่างๆที่ยังไม่ได้ถมก็จะใช้ท่อคอนกรีตระบายน้ำอออก โดยอาศัยช่วงน้ำลงค่อยๆ ปิดท่อ และปั้มน้ำออก ใช้แผ่นวัสดุสังเคราะห์รองอยู่ด้านล่าง จากนั้นเททับอีกชั้นด้วยดินเหนียวทะเล และถมด้วยขี้เถ้าทะเลต่อไป

landfill

เรือขนถ่ายเถ้าขยะทีเหลือจากการเผาแล้วนำไปถมที่เกาะ Semakau, รถขุดขี้เถ้าจากเรือขนส่ง ขึ้นบนรถบรรทุกเพื่อเตรียมนำไปถมที่ , ถมเถ้าขยะชั้นแรก แล้วค่อยถมดินธรรมชาติ ในชั้นสุดท้าย

Samekau Island

ภาพเกาะ Semakau จากปีแรกที่เริ่มก่อสร้าง ค.ศ.1999 , 2007 และปัจจุบัน ตามลำดับจากซ้ายไปขวา

IMG_4960

ภาพป่าโกงการที่ปลูกขึ้นทดแทนสภาพแวดล้อมเดิมบนพื้นที่ ที่ถมใหม่ ทำให้เกาะ Semakau นี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติแห่งใหม่ของประเทศ

IMG_4959

ภาพหญ้าทะเล ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น เป็นผมจากการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ไว้ให้ได้มากที่สุด

รูปภาพ1

ดอกไม้ทะเลและปะการัง สีสันสวยงามถูกพบได้ทั่วไปในบริเวณรอบเกาะ Semakau แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ

เราก็ได้รู้ถึงกระบวนการในการจัดการขยะของประเทศสิงคโปร์แล้วนะครับ ซึ่งประเทศไทยในบางจังหวัดเริ่มมีการกำจัดขยะด้วยวิธีเผาด้วยพลังงานสะอาด และรณรงค์ในการแยกขยะบางแล้วเช่นกัน แต่ที่แตกต่างคือ ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง รวมถึงการให้ความรู้เบื้องต้นต่างๆ ต่อประชาชน ทั้งกระบวนการหลังการกำจัดขยะในประเทศไทย ยังไม่มีแนวคิดในการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าให้กับขยะที่ถูกเผาเหล่านั้นมากพอดังในประเทศสิงคโปร์ พวกเราคนไทยพร้อมกันหรือยังครับ ที่จะมาเริ่มต้นช่วยกัน จากจุดเล็กๆ ภายในบ้าน สู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศเรา

 

จากกองขยะเหม็นๆ กลายเป็นแผ่นดินสิงคโปร์

  • Date: 2016-11-19
  • Category: News

รายละเอียดย่อ

สวัสดีครับ คุณสงสัยไหมว่าทำไมสิงคโปร์ถึงเป็นเมืองที่สะอาดติดอันดับโลก มาดูกันสิว่าเขามีระบบการบริหารจัดการอย่างไร….