บริษัทตรวจสิ่งแวดล้อม ภาคใต้ |เราคือบริษัท1เดียวในภาคใต้ที่ให้คำปรึกษาและตรวจสิ่งแวดล้อม ด้วยนักวิชาการสิ่งแวดล้อมโดยตรง

รายละเอียด

8วิธีรับมือบ้านหน้าฝน : การจัดการน้ำในบ้านและเปลี่ยนบ้านให้เป็นจุดรับน้ำเบื้องต้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมให้แก่ชุมชนและเมือง

เขียนและเรียบเรียงโดย : นายนัท

nutpermpoon@gmail.com

 

เสียงทักทายจากพระพิรุณได้เวียนกลับมาอีกครั้ง หลายพื้นที่เริ่มชุ่มฉ่ำนำ้ท่าอุดมสมบูรณ์ คงไม่ต้องกังวลอีกต่อไปแล้วว่าพรุ่งนี้จะเอาน้ำจากไหนมาใช้ กลุ่มชาวบ้านในภาคอีสาน ได้ดีใจอีกครั้งหลังงานบุญบั้งไฟ แต่ทว่ายังมีชาวบ้านอีกกลุ่มซึ่งมองเห็นไกลกว่านั้น แล้วพลันตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าปีหน้าแล้งอีก แล้วถ้าแล้งมากกว่าเดิมอีก เราจะทำอย่างไร”

แต่ในอีกมุมนึง นำ้ท่ามากเกินไปอย่างเช่นทุกปีจนก่อให้เกิดวลีดัง “น้ำขังรอการระบาย”  ซึ่งเป็นปัญหาได้แทบทุกปี ซำ้แล้วซำ้เล่า ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมสามารถเกิดได้ทุกปี คำถามก็คือเราจะรับมือกับมันอย่างไรอย่างมีสติวันนี้ทาง Greenintrend จะมาแนะนำวิธีการรับมือกับหน้าฝนโดยการบริหารจัดการน้ำใช้ในครัวเรือนอย่างยั่งยืนง่ายๆ โดยที่เพื่อนๆสามารถนำไปปรับใช้ได้เลย

 

20160702 rainy house revised

1. การเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้ (Rainwater Harvesting)
แน่นอนครับว่าเมืองไทยของเรามีน้ำให้ใช้กันเหลือเฟือในหน้าฝน และในทางกลับกันก็มีน้ำไม่พอในหน้าแล้ง การเก็บน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็นเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งนอกจากจะนำมาใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคแล้ว ยังมีประโยชน์ทางอ้อมในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้ เนื่องจากแต่ละบ้านแต่ละชุมชนมีการเก็บกักน้ำเป็นของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้น้ำประปาโดยตรงส่งผลให้ลดการใช้ไฟฟ้าและงบของการประปาเพื่อแจกจ่ายน้ำอีกด้วย

2. หลังคาเขียว (Green Roof)
คงเป็นที่ทราบกันดีครับว่า หลังคาเขียว(Green Roof) เป็นหลังคาที่ปลูกต้นไม้หรือหญ้าปกคลุมบนหลังคา ซึ่งมีประโยชน์ต่อตัวบ้านและผู้อยู่อาศัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นช่วยในการกันความร้อนเข้าสู่บ้าน ช่วยป้องกันเสียงรบกวน ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและเพิ่มสภาวะน่าสบายจากพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้น นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมานั้น ตัวหลังคาเขียวยังเปรียบเสมือนชั้นกรองน้ำโดยช่วยลดผลกระทบจากสารพิษที่มาจากน้ำฝนเช่นฝนกรดก่อนที่จะนำไปใช้ได้

3. ผนังเขียว-สวนแนวตั้ง (Green Wall)
ซึ่งนอกจากสวนแนวตั้งยังช่วยกรองความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะเก็บน้ำฝนไว้ใช้ โดยต่อท่อระบายน้ำจากสวนแนวตั้งโดยน้ำจะถูกกรองผ่านชั้นดินและและเส้นใยกันความชื้น โดยอาศัยหลักการเดียวกันกับ หลังคาเขียว

4. การจัดการน้ำทิ้ง (Grey water management)
ไม่ว่าจะเป็นนำ้ทิ้งจากระบบต่างๆภายในบ้าน จากอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ การซักผ้า หรือแม้กระทั่งน้ำทิ้งจากท่อแอร์ หากต่อท่อรวมกันโดยเฉลี่ยแล้ว บ้านหนึ่งหลังจะมีปริมาณการใช้น้ำต่อวันมากถึง476ลิตร(เฉลี่ย119 ลิตร/คน/วัน) หลังจากนั้นจึงนำมาบำบัดและเก็บไว้ใช้ในกิจกรรมบางประเภท ที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้นำ้ที่มีความสะอาดเมือนน้ำประปา เช่น รดนำ้ต้นไม้ ล้างพื้น หรือแม้กระทั้ง ชำระล้างโถสุขภัณฑ์

5.การจัดการน้ำโสโครก (Black water management)
เทคโนโลยี นิววอตเตอร์ (NEWater) ที่เคยเล่าให้ฟังคราวก่อนสามารถตอบโจทย์การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งกระบวนการนี้หมายถึงการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการบำบัดน้ำโดยการใช้กระบวนการการบำบัดน้ำผ่านเทคโนโลยีเมมเบรนที่มีความก้าวหน้า และการใช้แสงอัลตราไวโอเลตในการฆ่าเชื้อจนกลายเป็นน้ำที่สะอาดปลอดภัยต่อการอุปโภค บริโภค

6. การระบายน้ำบนผิวดิน (Surface runoff)
เป็นการเก็บนำ้ที่เหลือทิ้งจากพื้นผิวต่างๆเช่น นำ้จากหลังคา ระเบียง นอกชาน รวมทั้งน้ำที่ไม่สามารถซึมลงไปในดินได้ทันในบริเวณสวนหรือสนามหญ้า เพื่อป้องกันน้ำขังในบริเวณต่างไม่ให้เสียปล่าวประโยชน์ และสิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยจากการเก็บน้ำด้วยวิธีนี้คือ การจัดการความลาดเอียงของพื้นผิวและฝาท่อระบายน้ำจะต้องไม่มีใบไม้มาอุดตัน

7. ระบบเก็บนำ้ชีวภาพ ( Bioretention basin)
เป็นระบบกึ่งกรองน้ำกึ่งเก็บน้ำ โดยหลักการคือการเก็บน้ำจากการไหลของน้ำผิวดินโดยผ่านการกรองโดยชั้นต่างๆแบบชีวภาพเช่น ชั้นพืชคลุมดิน ชั้นดิน ชั้นทรายละเอียด แผ่นกันวัชพืช โดยน้ำที่ไหลผ่านชั้นต่างๆนั้นจะกรองเอาสารพิษต่างๆที่ปนมาจากน้ำ และน้ำจะค่อยๆลงไปสู่บ่อเก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งสามารถนำไปใช้

รูปภาพ8

ภาพ Bioretion basin ที่มีการจัดวางชั้นกรองต่างๆ โดยเริ่มจากต้นไม้คลุมดินชั้นบนสุด ลงมาถึงชั้นดินประเภทต่างๆ สุดท้ายแล้วน้ำเหล่านี้จะไหลผ่านท่อใต้ดินไปเก็บในบ่อพักน้ำในที่สุด

 

Bishan_Park_vor_und_nach_renaturierung

ภาพสวนสาธารณะ Bishan Park ประเทศสิงคโปร์ แบบ Bioretention ฺbasin ขนาดใหญ่ของชุมชน ทำหน้าที่เก็บรับน้ำในหน้าฝน และสามารถนำมาใช้ในหน้าแล้งได้ด้วย ถาพด้านบนคือทางระบายน้ำ ก่อนการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ (ที่มา : https://de.wikipedia.org/wiki/Bishan_Park )

8. การเลือกใช้สุขภัณฑ์ในห้องน้ำแบบประหยัดน้ำ ( High efficiency plumbing fixtures)

ไม่ว่าจะเป็นก๊อกน้ำที่ติดตั้งตะแกรงกรองน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำโดยสังเกตได้ว่านำ้ที่ออกมาจะเป็นฟองขาวๆแทนที่เป็นน้ำใสๆ การเปลี่ยนการอาบน้ำจากอ่างอาบน้ำเป็นอาบโดยฝักบัวและเป็นฝักบัวแบบประหยัดน้ำ โถสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำที่มีการแบ่งเป็น2จังหวะ(Dual Flush)เพื่อลดปริมาณน้ำที่ใช้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละครั้ง

 

หมดไปแล้วนะครับกับ 8 วิธีจัดการน้ำกับบ้านหน้าฝนแบบกรีนๆ ซึ่งมีหลายวิธีที่เพื่อนได้ทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว และอีกหลายวิธีที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในบ้านเรา แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตาม การสร้างจิตสำนึกในการประหยัดและรู้คุณค่าของทุกๆสิ่งนั้นสำคัญที่สุด หวังว่าเพื่อนๆคงได้เริ่มไม่ว่าวิธีใดวิธีหนึ่งกันตั้งแต่วันนี้เลยนะครับ เพื่อเราจะอยู่และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน


8วิธีรับมือบ้านหน้าฝน : การจัดการน้ำในบ้านและเปลี่ยนบ้านให้เป็นจุดรับน้ำเบื้องต้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมให้แก่ชุมชนและเมือง

  • Date: 2016-11-19
  • Category: News

รายละเอียดย่อ

เสียงทักทายจากพระพิรุณได้เวียนกลับมาอีกครั้ง หลายพื้นที่เริ่มชุ่มฉ่ำนำ้ท่าอุดมสมบูรณ์ คงไม่ต้องกังวลอีกต่อไปแล้วว่าพรุ่งนี้จะเอาน้ำจากไหนมาใช้ กลุ่มชาวบ้านในภาคอีสาน ได้ดีใจอีกครั้งหลังงานบุญบั้งไฟ แต่ทว่ายังมีชาวบ้านอีกกลุ่มซึ่งมองเห็นไกลกว่านั้น แล้วพลันตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าปีหน้าแล้งอีก แล้วถ้าแล้งมากกว่าเดิมอีก เราจะทำอย่างไร”